วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิ

พระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิ
 



เป็นอีกหนึ่งของพระตระกูล “นางพญา” ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใครพร้อมกับมีขนาด ไม่ใหญ่เกินไป และ ไม่เล็กจนเกินการ พร้อมมีความเด่นของรูปทรงตรง     ที่มี “เส้นสังฆาฏิ” ที่ค่อนข้างหนาใหญ่พาดจาก “พระอังสา” (ไหล่) ผ่าน “พระอุระ” (อก) ไปถึง “พระอุทร” (ท้อง) นักสะสมในสมัยโบราณจึงตั้งชื่อพิมพ์ว่า “พิมพ์ทรงชฎา” เนื่องจากมี “เส้นพระกรรณ” (หู) ด้านบนจดกับ “เส้นครอบพระเศียร” ซึ่งดูแล้วคล้ายกับเป็นการ “สวมชฎา” และที่เรียกว่า “พิมพ์ สามเหลี่ยม” ก็เป็นเพราะการ “ตัดขอบองค์พระ” ทั้งสามด้านส่วนใหญ่ จะมีลักษณะเป็น     “สามเหลี่ยมด้านเท่า” นั่นเอง
 
แต่ปัจจุบันนักสะสมหันมานิยมเรียกว่า “พิมพ์สังฆาฏิ” ก็เป็นเพราะมี “เส้นสังฆาฏิ” ที่หนาใหญ่กว่าปกติซึ่งทั้งสามชื่อที่ใช้เรียกขานกันนั้นก็ล้วนแต่เรียกไปตาม “เอกลักษณ์” ของพิมพ์ทรงที่มีในองค์พระทั้งสิ้น
 
นอกจากนี้เอกลักษณ์สำคัญที่เป็นจุดสังเกตที่ต้องจดจำให้แม่นคือ “เส้นพระกรรณ” (หู) ด้านซ้ายมือขององค์พระจะมีความหนากว่าด้านขวา โดยปลายพระกรรณทั้งด้านบนและด้านล่างในองค์ที่พิมพ์ติดชัดจะมี “เส้นพิมพ์แตก” ที่มีลักษณะคล้ายกับเป็น “หูสองแฉก” อีกทั้งตรง บริเวณใต้ “พระศอ” (คอ) ก็จะมีเส้นพิมพ์แตก  ที่บรรดาเซียนพระเรียกว่า “เส้นเอ็นคอ” แต่  จะเป็นเพียงเส้นบาง ๆ เท่านั้น แต่เนื่องจากพระพิมพ์นี้ในองค์ที่ “ติดคมชัด” หาได้ยากมากจึงไม่ค่อยมีให้พบเห็นมากนัก
 
สำหรับเอกลักษณ์ที่เป็นจุดสังเกตของ “พิมพ์สังฆาฏิ” มีดังนี้
๑.การตัดขอบองค์พระ ทั้งสามด้านส่วนใหญ่จะเป็นแบบ สามเหลี่ยมด้านเท่า
๒.พระเกศ (ผม) มีลักษณะคล้ายกับ ปลีกล้วย
๓.เส้นครอบพระเศียร (ศีรษะ) มีลักษณะคล้ายกับ ชฎา
๔.พระนลาฏ (หน้าผาก) จะมีลักษณะคล้ายกับเนื้อบริเวณนั้นยุบตัวลง
๕.ปลายพระกรรณด้านซ้าย (ใบหูด้าน ซ้าย) จะแตกเป็นสองแฉกทั้งด้านบนและด้านล่าง
๖.เส้นสังฆาฏิ เป็นเส้นหนาใหญ่กว่าปกติ
๗.พระอังสาด้านขวาองค์พระ (ไหล่ขวา) จะมีเนื้อเกินชัดเจน
๘.พระหัตถ์ขวา (มือขวา) ที่วางพาดไปบน พระชานุขวา (เข่าขวา) มีลักษณะเป็นก้อน
๙.พระหัตถ์ซ้าย (มือซ้าย) ที่วางพาดบน พระเพลา (ตัก) มีลักษณะแอ่นโค้งเช่นกันกับ พิมพ์เข่าโค้ง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น